ข้อคิดประจำสัปดาห์ วันอาทิตย์ 14 มิถุนายน 2020
พันธสัญญา (Covenant)
ศจ.ดร.ประดิษฐ์ เถกิงรังสฤษดิ์
การรักษาคำมั่นสัญญาเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ที่ราบรื่น มีหลายคำที่เกี่ยวข้อง เช่น
• คำสัญญา (Promise) เป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ตนเองและผู้อื่นด้วยความสมัครใจ
เมื่อให้คำมั่นแล้ว ก็จะพยายามรักษาไว้ให้มั่น คำสัญญาเช่นนี้ อาจลุ่มๆ ดอนๆ
เพราะไม่มีอะไรรับประกันความยั่งยืนของสัญญาที่ให้ไว้
• สนธิสัญญา (Treaty) เป็นข้อผูกพันที่ค่อนข้างแน่นหนามั่นคง เนื่องจาก มีกฎหมายหรือกฎข้อบังคับเป็นตัวกำหนด เช่น สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น หากฝ่ายใดละเมิดข้อตกลง ก็อาจมีบทลงโทษทางกฎหมายก็ได้
• คำปฏิญาณสัญญา (Vow) เป็นคำปฏิญาณสัญญาระหว่างคนสองคนที่ให้ไว้ต่อกัน เป็นสัญญาใจที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เช่น คำปฏิญาณสัญญาของชายหญิงสองคนที่ตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เป็นต้น
• พันธสัญญา (Covenant) เป็นคำมั่นสัญญาขั้นสูงที่พระเจ้าทรงกระทำกับมนุษย์
โดยมีความเชื่อศรัทธาเป็นตัวกำหนด อาจไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย แต่เป็นสัญญาใจที่ถือเป็นวินัยชีวิตของแต่ละคน หากถือรักษาพันธสัญญาอย่างเคร่งครัด ก็จะได้รับพร มีความเจริญรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุข
แต่หากละเมิดพันธสัญญา ก็อาจร้อนรุ่มกลุ้มใจและพบกับความหายนะในชีวิตก็ได้
พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับมนุษย์คือ พระเจ้าจะเป็นพระเจ้าของเรา
ส่วนเราจะเป็นประชากรของพระองค์ หากเรารักษาพันธสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้าอย่างมั่นคง เราก็จะได้รับพระพร แต่หากละเมิด ก็อาจเดือดเนื้อร้อนใจไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ พระบัญญัติข้อแรกคือ “อย่า (ห้าม) มีพระ
เจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20.3) การบัญญัติเช่นนี้ จึงเป็นข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นว่า เราต้องเชื่อวางใจและปรนนิบัติ พระเจ้าองค์เดียว โดยไม่มีพระเจ้าอื่น หรือสิ่งอื่นใดที่ยิ่งใหญ่และสำคัญไปกว่าพระ
เจ้าองค์นี้ เราจึงมีพระเจ้าองค์เดียว โดยไม่มีพระเจ้าเผื่อเลือก หากเรายึดมั่นและทำตามพันธสัญญาเช่นนี้ พระเจ้าสัญญาว่า (ฉธบ. 5:33)
• ท่านจะไปดีมาดี (Live and prosper) นั่นคือ มีชีวิตอยู่และมีความเจริญรุ่งเรือง
• และมีชีวิตยืนนาน (Prolong your days) นั่นคือ ยืดวันเวลาให้ยืนนานและมีอายุมั่นขวัญยืน